สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดตาก
 
ประวัติความเป็นมา ของชุมชน
อำเภอวังเจ้า เป็น ๑ ใน ๙ อำเภอของจังหวัดตาก ได้แบ่งแยกเขตการปกครองออกมาจากอำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๓๙ และได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙ มีเขตการปกครองแบ่งออกเป็น ๓ ตำบล คือ ตำบลเชียงทอง ตำบลเชียงทอง และตำบลประดาง อำเภอวังเจ้าตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๓๙๔ กิโลเมตร ตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำปิง ในระยะเริ่มแรกได้ขออนุญาตใช้สถานีอนามัยวังเจ้า ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก เป็นสถานที่รองรับการให้บริการประชาชนเป็นการชั่วคราว และได้ก่อสร้างที่ว่าการอำเภอวังเจ้า บริเวณกิโลเมตรที่ ๓๙๔ ถนนพหลโยธิน หมู่ที่ ๒ บ้านสบยม ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก เมื่อที่ว่าการอำเภอวังเจ้าแล้วเสร็จตามกำหนดการ จึงได้ย้ายส่วนราชการต่างๆ ไปตั้งไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอวังเจ้าใหม่ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ กิ่งอำเภอวังเจ้าได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๐
หมู่บ้านวังเจ้า เริ่มก่อตั้งมาประมาณ ๑๐๐ กว่าปีมาแล้ว เดิมชื่อว่าบ้านวังเรียบ และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นหมู่บ้านวังเจ้า มีคำบอกเล่าว่า คำว่า ?วัง? คือ แม่น้ำปิงไหลลงกระทบเขากลายเป็นวังน้ำ คำว่า ?เจ้า? คือเจ้าพ่อเสือ หรือ เจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าพ่อนั่นเอง เลยรวมกันว่า?วังเจ้า? จึงนำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านคนกลุ่มแรกที่เริ่มเข้ามาตั้งหมู่บ้านนั้นไม่ทราบว่าเป็นใครเนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่โดยมาอยู่ที่เกาะฤษี ซึ่งเป็นเมืองเก่าและมีสถานศึกษาคือโรงเรียน ซึ่งขณะนี้โรงเรียนดังกล่าวก็ได้ย้ายออกจากเกาะฤษีไปแล้ว ทราบแต่เพียงว่ามีกลุ่มคนย้ายมาจากทางเหนือจากบ้านตาก อำเภอบ้านตาก และต่อมาก็อพยพมาจากหลาย ๆ จังหวัด มีทั้งมาจากจังหวัดทางภาคเหนือ ภาคอิสาน และภาคกลาง ซึ่งอพยพหนีความแห้งแล้งและกันดารที่ทำกินไม่เหมาะสม และหมู่บ้านวังเจ้าเป็นพื้นที่ลุ่มใกล้แม่น้ำปิง เหมาะแก่การปลูกพืช ส่วนใหญ่ก็จะมีอาชีพทางการเกษตร เพราะที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นพื้นที่ที่มีป่าสักหนาแน่น พื้นที่ดั้งเดิมเป็นป่าสงวนไม่มีเจ้าของจึงมีการอพยพมาอยู่และจับจองที่ดินกันเอง
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านสบยม เริ่มก่อตั้งมาประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว ที่มาของชื่อหมู่บ้านสบยมได้มาจากในอดีตมีลูกสาวของเจ้าเมืองมาเสียชีวิต ณ หมู่บ้านแห่งนี้ จึงต้องนำศพลงแพใช้เรือโยงขึ้นไปตามแม่น้ำปิง ด้านทิศเหนือและทางเจ้าเมืองได้ส่งเรือมารับศพไปทำพิธีกรรม จึงเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า ?ศพโยง? ต่อมามีชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัย จึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านให้ฟังดูดีขึ้นเป็น ?สบยม? และได้ใช้เป็นชื่อหมู่บ้านมาจนถึงทุกวันนี้ คนกลุ่มแรกที่เริ่มเข้ามาตั้งหมู่บ้าน คือ นายเผื่อน เครืออิ่ม, นายสวน เครืออิ่ม, นายสอน เครืออิ่ม, นายใบ ใจทน, นายชุ่ม ใจทน, นายแช่ม ใจทน, นายนำ ต่อกร, นายห้าว พงษ์อิ่ม, นางหน่วง พงษ์อิ่ม, นายหนอม ทินปาน, นายอิน สนคง, นายโน เสากุล, นางป้อง เสากุล, และนางหลี แก้วกุด ซึ่งได้อพยพมาจากหลายแห่ง คือ หมู่บ้านบ้านตาก ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก หมู่บ้านท่าไม้แดง หมู่บ้านวังหิน ตำบลวังหิน อำเภอเมืองตาก หมู่บ้านแม่พริก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และไม่ทราบแหล่งอพยพอีกหลายครอบครัวเหตุที่ชาวบ้านกลุ่มนี้อพยพมาจากบ้านเดิม เพราะเห็นว่าสถานที่แห่งนี้ดี เหมาะแก่การทำมาหากินและตั้งถิ่นอาศัยเพราะมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ คือ มีแม่น้ำ คลอง ทุ่งหญ้า ป่าไม้ และสัตว์ป่าชุกชุม.
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านดงซ่อม หมู่บ้านดงซ่อมเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ .๒๕๐๒ประมาณ ๔๙ ปีที่แล้ว คนกลุ่มแรกที่เริ่มมาก่อตั้งก็คือ กลุ่มพ่อสุข เที่ยงอ้าย พ่อยัง เตธิ และพ่อดี ซึ่งอพยพมาจากบ้านฉลอม ตำบลท้องฟ้า อำเภอบ้านตาก และบ้านน้ำดิบ ตำบลแม่พริก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เหตุที่แต่ละกลุ่มนี้อพยพจากบ้านเดิม เพราะหมู่บ้านเดิมที่อาศัยอยู่นั้นประสบกับอุทกภัยน้ำท่วม ภูเขาถล่ม หินตกลงมาใส่หมู่บ้านเป็นประจำจึงไม่สามารถจะอยู่กันได้ จึงได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านดงซ่อม เพื่อทำมาหากินจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าเก่าแก่ว่า หมู่บ้านดงซ่อมมาจากชื่อต้นพริกต้นหนึ่ง มีผลดกตามกิ่งเป็นช่อ ๆ เยอะมากก็ได้ชวนกันไปดูต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า มันดกเป็นซ่อม ๆ ซึ่งคำว่า ?ซ่อม? เป็นภาษาพูดของคนเมืองซึ่งแปลว่า ?พวงหรือช่อ? นั่นเอง จึงนำชื่อนี้มาตั้งเป็นชื่อของหมู่บ้านดงซ่อมจนทุกวันนี้
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านเด่นวัวเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๖ หรือประมาณ ๓๕ ปีมาแล้ว คนกลุ่มแรกที่เริ่มมาก่อตั้งก็คือ นายกล่ำ ขันสิ่งทา นายสำอาง เพิ่มพูน นายสมพงษ์ กาวี นายมนูญ สองศรี นายฉ่ำ บุญประสาร นายลำดวน โพธิราช นายประพงษ์ อุดมโภชน์ นายบุญเลิศ จึงพัฒนานนท์ ซึ่งอพยพมาจากบ้านโพธิ์ทะเล ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร และจากจังหวัดนครสวรรค์ อุบลราชธานี เชียงราย และจังหวัดพะเยา เหตุที่แต่ละกลุ่มอพยพมาจากหมู่บ้านเดิมเพราะไม่มีที่ทำกิน เกิดความแห้งแล้ง หนีภัยธรรมชาติ หมู่บ้านเด่นวัวมีประวัติความเป็นมาจากคำบอกเล่า สมัยดั้งเดิมพื้นที่บริเวณโรงเรียนบ้านเด่นวัวเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าไม้หนาแน่น และมีดินโป่ง ทำให้ฝูงสัตว์โดยเฉพาะวัวป่า ชอบพากันมาเล็มหญ้าและกินดินโป่ง ซึ่งอยู่บนเนินที่สูงกว่าที่อื่น ๆ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน จึงเรียกชื่อเรื่อยมาว่า ?เด่นวัว?
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านผาผึ้ง บ้านผาผึ้งตั้งอยู่ในพื้นที่เชิงเขามีภูเขาล้อมรอบ อยู่ห่างจากอำเภอวังเจ้าประมาณ ๓๘ กิโลเมตร ก่อนจะมาตั้งถิ่นฐาน ณ หมู่บ้านปัจจุบัน ชาวบ้านผาผึ้งได้อพยพมาจากหมู่บ้านผาผึ้งเก่า ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวคือบริเวณหลังหน้าผา ปัจจุบันกลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือนายป้าง (ไม่ทราบนามสกุล) บ้านผาผึ้งก่อตั้งมาแล้วประมาณ ๖๐ ปี ประชากรส่วนใหญ่ ร้อยละ ๙๕ เป็นชาวเขาเผ่าม้ง และใช้ภาษาม้งเป็นภาษาหลักในการติดต่อสื่อสารระหว่างหมู่บ้านทำให้เป็นอุปสรรคในการติดต่อกับบุคคลภายนอก ชาวบ้านผาผึ้งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำไร่ เช่น ข้าวโพด ขิง กระชายดำ และผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันคือนายเด่นชัย ทิศกุลสว่าง
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านใหม่เสรีธรรม ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ โดยแยกหมู่บ้านจากหมูบ้านดงซ่อม และตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า?หมู่บ้านใหม่เสรีธรรม? สาเหตุที่ตั้งชื่อหมู่บ้านว่าใหม่เสรีธรรม เพราะเป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ ชาวบ้านมีความเป็นประชาธิปไตยมีความเสรีในการประกอบอาชีพและมีผู้เฒ่าในหมู่บ้านที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ชื่อลุงธรรม ชาวบ้านจึงนำชื่อลุงมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านว่า ?ใหม่เสรีธรรม?
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านหนองปลาไหล เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ ประมาณ ๒๗ ปีมาแล้ว คนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านคือ นายไพร สิงห์หา , นายโค นางนรินทร์ บุญยัง , นายหลอด นางเปราะ วันเสี้ยน, นายสมควร พรมมา, นายรอด นางเชย ราบสูงเนิน, นางชิน คุ้มวงษ์, นางเจือ จันทร, นางศรี โพธิ์ศรี เป็นชาวบ้านที่ย้ายมาจากจังหวัดนครสวรรค์ มหาสารคาม นครราชสีมา เพชรบุรี ชัยนาท และพิจิตร จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านบอกว่าหมู่บ้านนี้ ได้มีหนองน้ำขนาดเล็กอยู่เหนือหมู่บ้านและทำให้ครอบครัวที่ย้ายมาอยู่ใหม่ได้มีน้ำดื่มและน้ำใช้ ตอนแรกได้มีชาวบ้านเอาอีจู้ไปดักปลาในหนองน้ำ ปรากฏว่ามีปลาไหลมาติดอยู่ในอีจู้เกือบเต็มทุกครั้งที่ไปดัก จนเป็นชื่อเรียนติดปากของชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบันคือ ? บ้านหนองปลาไหล?
ประวัติความเป็นมาของบ้านครองราชย์ เนื่องจากผู้ที่มาบุกเบิกคนแรกชื่อนายสนิท ทองลาด ได้อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านเด่นวัว หมู่ที่ ๔ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้แยกหมู่บ้านใหม่เป็นหมู่ที่ ๙ ในช่วงปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี จึงขอตั้งชื่อเป็นหมู่บ้านครองราชย์ หมู่บ้านนี้ได้เริ่มขยายตัวจากหมู่ที่ ๔ เดิม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หรือประมาณ ๓๓ ปีมาแล้ว คนกลุ่มแรกที่เริ่มอพยพเข้ามามาจากบ้านห้วยข้าวกำ ตำบลห้วยข้าวกำ อำเภอรอน จังหวัดพะเยา และจากบ้านชาล ตำบลม่วง อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และจากชาวอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เหตุที่แต่ละกลุ่มย้ายถิ่นมาที่นี้เพราะไม่มีที่ทำกิน จำเป็นต้องหาที่ทำกินใหม่เพราะความยากจน หมู่บ้านครองราชย์ได้แยกจากบ้านเด่นวัว หมู่ที่ ๔ เป็นหมู่บ้านใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เรียกชื่อตามปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านใหม่ชัยมงคล เหตุผลที่ตั้งชื่อบ้านใหม่ชัยมงคลนั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ชาวบ้านมูเซอ ได้อพยพมาอยู่ที่นี้ประมาณ ๘ ครอบครัว มีอยู่ ๓ ตระกูล ประกอบด้วยตระกูล สีมี่ ตระกูล แซ่ลี้ และตระกูลศรีลิมปนนท์ และรวมประชากรทั้งหมด ๕๒ คน ได้บุกเบิกตั้งถิ่นฐานอยู่ริมคลองแม่ย่ามาทำไร่ข้าวโพด ปลูกข้าวไว้บริโภค ต่อมาได้มีประชากรจากอำเภอคลองลาน ได้อพยพมาสมทบและจากที่อื่นบ้างมาอยู่รวมกันเป็นชุมชนใหญ่โตขึ้นมาจึงตั้งชื่อชุมชนนี้ว่า?บ้านแม่ย่ามา? พอปี พ.ศ.๒๕๒๔ มีการจัดตั้งผู้นำหมู่บ้านขึ้นมาได้นายมงคล แซ่ลี้ (วงศาไพสิฐ) เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก โดยแยกจากฐานทะเบียนราษฎรจากหมู่ที่ ๓ บ้านดงซ่อม และขอเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้าน ?ใหม่ชัยมงคล? ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านศรีคีรีรักษ์ เดิมชื่อบ้านปางสังกะสี ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ นายหวังเล่ง แสงว่าง เป็นผู้นำหมู่บ้านอยู่ในความดูแลของ หมู่ที่ ๗ ตำบลนาโบสถ์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ นายหย่า แสงว่าง ซึ่งเป็นน้องชายของนายหวังเล่ง แสงว่าง ได้ขึ้นเป็นผู้นำแทน แต่อยู่ในความดูแลของหมู่ที่ ๘ บ้านหนองปลาไหล ตำบลเชียงทอง จนกระทั่งวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๓ ทางราชการจึงได้แยกหมู่บ้านให้เป็นหมู่ที่ ๑๑ ของตำบลเชียงทอง และแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน คือนายรุ่งโรจน์ แสงว่าง และในวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๕ ได้เปลี่ยนผู้ใหญ่บ้านคนใหม่คือนายผ้า แซ่ว่าง จนถึงปัจจุบัน บ้านศรีคีรีรักษ์อยู่ห่างจากอำเภอวังเจ้า ประมาณ ๓๓ กิโลเมตร
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านเด่นวัวน้ำทิพย์ แต่ก่อนรวมอยู่กับหมู่ที่ ๔ บ้านเด่นวัว และได้แยกออกมาเป็นหมู่ที่ ๑๒ บ้านเด่นวัวน้ำทิพย์ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวอิสานที่ย้ายมาจากหลายจังหวัดของภาคอิสาน ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน คือนายแสวง สำพล แ,เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านเด่นวัวน้ำทิพย์ ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า บ้านเด่นวัวน้ำทิพย์ประกาศจัดตั้งหมู่บ้านเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ ห่างจากอำเภอวังเจ้า ประมาณ ๘ กิโลเมตร สภาพโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีคลองธรรมชาติไหลผ่าน คือ คลองม่วง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม การเพาะปลูกที่สำคัญได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเขียว ข้าว สวนผลไม้ ลำไย มะขามหวาน และการปลูกพืชสวนครัว และประชากรบางกลุ่มก็ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปในโรงงาน
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านชุมนุมกลาง เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ หรือประมาณ ๖ ปีที่ผ่านมา คนกลุ่มแรกที่เข้ามาอาศัยและริเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านชุมชุนกลางคือ นายรินทร์ ชาภูมี นางหนู สิทธิเขต นายตุ่น เทียนรม ซึ่งอพยพมาจากบ้านนาขุนไกร ตำบลนาขุนไกร อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย จากบ้านแขม อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และบ้านวังบัว ตำบลท่าพุทรา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เหตุแต่ละกลุ่มอพยพจากบ้านเดิมเพราะประสบปัญหาความแห้งแล้งและที่ทำกิน ที่มาของหมู่บ้านชุมนุมกลาง แยกตัวออกจากบ้านเด่นคา หมู่ที่ ๕ เป็นหมู่ที่ ๑๓ ?บ้านชุมนุมกลาง?
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านสบยมใต้ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ประมาณ ๖ ปี ที่ผ่านมา ซึ่งแยกจากบ้านสบยม หมู่ที่ ๒ ตำบลเชียงทอง โดยตั้งชื่อเพิ่มจากหมู่บ้านเดิมเพราะหมู่บ้านตั้งอยู่ทางทิศใต้ เป็น ?บ้านสบยมใต้? หมู่ที่ ๑๔ ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยเมื่อ วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๕
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านเด่าคา บ้านเด่นคาเริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ คนกลุ่มแรกที่เริ่มเข้ามาก็ตั้งก็คือ กลุ่มของนายอ้าย ปัญญาคำ นายยาน เหลืองอร่าม และนายสมพงษ์ หลักดี ซึ่งอพยพมาจากบ้านวังเจ้า หมู่ที่ ๑ ตำบลเชียงทองอำเภอวังเจ้า และจากจังหวัดกำแพงเพชร ขอนแก่น สกลนคร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี หมู่บ้านเด่นคามาจากชื่อของต้นหญ้าชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ?หญ้าต้นคา? ซึ่งสามารถนำมาดัดแปลงทำหลังคาบ้านได้ ซึ่งหญ้าชนิดนี้ขึ้นอยู่หนาแน่นมากพร้อมมองเห็นได้ชัดเจนทั่วบริเวณ จึงนำชื่อนี้มาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน เด่นคา ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านเด่นคา คือนายอ้าย ปัญญาคำ หลังจากลาออกจากตำแหน่งก็ได้คัดเลือกผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ซึ่งอยู่ในวาระ ๓ วาระแล้ว


 
สงวนลิขสิทธิ์ @ 2013 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดตาก.
Powered by : Admin, http://tak.nfe.go.th จำนวนผู้เข้าชม