สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดตาก
 
ประวัติความเป็นมา ของชุมชน
ตำบลบ้านนาตั้งอยู่บนฝั่งขวาของลำน้ำปิง อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ห่างจากอำเภสามเงาไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๐ ก.ม. เป็นตำบลที่มีตำนานเก่าแก่มาแต่โบราณเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าลั๊วะ ส่วนหนึ่งของอาณาเขตเมืองสร้อยในอดีตกาลกว่า ๘๐๐ ปี อยู่ทางตอนเหนือของเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก ตามลำน้ำปิง ประมาณ ๗๐ กม. หรือกึ่งทางระหว่างเขื่อนภูมิพล กับ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ยุคต้น (ระหว่าง พ.ศ.๑๖๖๙ ? ๒๓๑๐ ) เมืองสร้อยมีเจ้าเมืองปกครองมานานหลายชั่วอายุคน เจ้าเมืององค์สุดท้ายมีพระนามว่า พญาอุดม อาณาเขตเมืองสร้อยประกอบด้วยหมู่บ้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่นในลำน้ำแม่ตื่น มีบ้านก๋องจาก บ้านท่าก๋อง บ้านอูมวาบ บ้านหินลาด บ้านนาไฮ บ้านอูมหลอง บ้านกะต๋ำ เป็นต้น ในลำน้ำปิง มีบ้านทุ่งจ๊ะ บ้านส่างต้น บ้านเสลี่ยม บ้านแก๋งป่วง บ้านป่าคา ฯลฯ ในหุบเขาต่างๆ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำปิง ก็มีหมู่บ้านต่างๆ เช่น บ้านหนองแสง บ้านดินแดง บ้านขอบด้ง บ้านก๋องยอน บ้านผาลาด บ้านวังคำ ฯลฯ ทุกหมู่บ้านได้สร้างวัดต่างๆ รวมทั้งสิ้น ๙๙ วัด พญาอุดมได้ทำการฉลองครั้งยิ่งใหญ่ ต่อมาพญาอุดมได้ล้มป๋วยและถึงแก่อสัญกรรม ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีข่าวสงครามไทยกับพม่า ชาวเมืองสร้อยได้ขนย้ายทรัพย์สมบัติต่างๆ ไปซ่อนไปฝังไว้ตามถ้ำและหุบเขาต่าง ๆ ที่เห็นว่าปลอดภัย พร้อมกับได้ทำปริศนาลายแทงเอาไว้ เช่นคำว่า เมื่อเช้าอยู่คอควาย เมื่องายอยู่ที่รั้ว , ไปเพียงตา มาเพียงตีน , ไม้จิกอยู่เหนือ มะเกลืออยู่ใต้ แก้ไม้ได้เลือดออกปาก เป็นต้น ในรัชกาลที่ ๑ กษัตริย์พม่าได้ยกกองทับมาตีเมืองไทยโดยเดินทางมาทางแม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง ได้ตีเมืองฉอดและเมืองสร้อย พร้อมกับได้กวาดต้อนผู้คนชาวเมืองสร้อย ซึ่งสัณนิฐานว่าเป็นชนเผ่าลัวะ ( อะว้า ) ไปช่วยทำสงครามทางใต้ ต่อมาเกิดโรคระบาดผู้คนเมืองสร้อยล้มตายเป็นจำนวนมาก เมืองสร้อยจึงกลายเป็นเมืองร้างตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ยุคกลาง ( ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑๐ ? ๒๔๙๔ ) ชาวเมืองสร้อยที่ถูกทหารพม่ากวาดต้อนไปทำสงครามกับกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่ยังมีชีวิตและเมืองสร้อยได้ถูกไฟไหม้เผาผลาญ เสียหายมาก ชาวเมืองจึงได้มาอยู่ที่ใหม่ ห่างจากพระพุทธบาทเขาหนาม ไปทางทิศตะวันตก ริมฝั่งแม่น้ำปิง ๒ กม. เรียกว่า บ้านหลวง ต่อมาประชากรได้เพิ่มขึ้นมาโดยลำดับ มีการขยายหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านได้สวย บ้านศรีแท่น บ้านวัดหลวง บ้านท่าหินโก๊ะ บ้านท่าเดื่อ บ้านพิมาน บ้านห้วย ฯลฯ ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นตำบลบ้านนา มีวัด ๘ วัดมีพระสงฆ์ประจำทุกวัด เว้นแต่วัดพระบรมธาตุลอยที่ไม่มีพระภิกษุสงฆ์ วัดเหล่านี้ คือวัดศรีแท่นวัดดอนแก้ววัดหลวงวัดท่าเดื่อวัดบ้านห้วยวัดท่าโปร่งวัดอูมวาบวัดพระบรมธาตุลอย ( วัดห้วยไคร้ ) และมีโรงเรียนประจำหมู่บ้าน อีก ๖ โรงเรียน คือ โรงเรียนผดุงวิทย์ โรงเรียนราษฎร์บำรุง โรงเรียนบ้านห้วย โรงเรียนบ้านท่าโป่ง โรงเรียนบ้านอูมวาบ และโรงเรียนบ้านโสมง พ.ศ. ๒๔๙๔ รัฐบาลมีโครงการสร้างเขื่อนภูมิพล เพื่อกักเก็บน้ำไว้ผลิตกระแสไฟฟ้าที่บริเวณเขาแก้ว ทางตอนใต้ของตำบลบ้านนา อ.สามเงา จ.ตากในปี พอถึงเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๐๓ ราษฎรตำบลบ้านนาก็พากันอพยพไปใต้เขื่อนไปอยู่ในที่ ๆ ทางกรมชลประทานจัดสรรให้ พระพุทธรูปและพระภิกษุสามเณร ก็อพยพไปอยู่ ณ ที่นั้นด้วย การอพยพในครั้งนี้ทำให้ราษฎรตำบลบ้านนาแยกออกเป็น ๔ กลุ่มใหญ่ กลุ่มที่ ๑ อพยพไปอยู่ใต้เขื่อนที่ทางกรมชลประทานจัดสรรไว้ให้ ( บริเวณบ้านจัดสรร ต.สามเงา อ.สามเงา จ.ตาก ) ประมาณ ๕๐๐ ครัวเรือน กลุ่มที่ ๒ ไม่ยอมย้ายออกไป อพยพหนีน้ำท่วมขึ้นไปอยู่ที่สูงให้พ้นจากน้ำท่วม มี บ้านหินลาด , บ้านนาไฮ, บ้านอูมวาบ , บ้านผาลาด, บ้านวังคำ , บ้านสันป่าป๋วยและ บ้านห้วยริน มีประมาณ ๕๐๐ ครัวเรือน กลุ่มที่ ๓ อพยพไปอยู่จังหวัดเชียงราย บ้านต้นงิ้ว ประมาณ ๔๐ ครัวเรือน กลุ่มที่ ๔ อพยพไปอยู่จังหวัดกำแพงเพชร บ้านโป่งน้ำร้อน ประมาณ ๕๐ ครัวเรือน ยุคปลาย ( ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๓ จนถึงปัจจุบัน ) ราษฎรที่ไม่ยอมอพยพเข้าไปอยู่ที่บ้านจัดสรร ได้อพยพหนีน้ำขึ้นไปอยู่ตามเชิงผารวมเป็นหมู่บ้าน มี บ้านหินลาด , บ้านนาไฮ, บ้านอูมวาบ , บ้านโสมง ( กลุ่มบ้านผาลาด, บ้านวังคำ ) บ้านสันป่าป๋วย และตั้งเป็นตำบลบ้านนา


 
สงวนลิขสิทธิ์ @ 2013 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดตาก.
Powered by : Admin, http://tak.nfe.go.th จำนวนผู้เข้าชม